ความกลัวของมือใหม่



ความกลัวของมือใหม่
ความกลัวของมือใหม่ เชื่อได้เลยว่าเพื่อนๆ มือใหม่หลายๆ คนที่หลังจากหัดขับขี่รถ มอเตอร์ไซค์ไม่ว่าจะเป็นรถเล็กหรือรถใหญ่ ล้วนแล้วจะต้องมีเรื่องบางเรื่องที่ตัวเองกำลังกลัวอยู่ ซึ่งแน่นอนว่าการขับขี่จริงๆ นั้น เราอาจจะหลีกเลี่ยงกับสิ่งที่เราไม่กล้า ไม่ถนัดได้ แต่ก็จะมีบางครั้งที่เราจำเป็นจะต้องเผชิญหน้ากับความกลัว ซึ่งในบทความนี้เรามีวิธีในการรับมือกับสิ่งที่เพื่อนๆ กลัวกันมาฝากครับ ข่าวbigbike
กลัวเท้าไม่ถึงพื้น
ไม่ต้องแปลกใจไปครับ เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติมาก เรามักจะพบกับคำถามที่เพื่อนๆ หลายๆ คนมักจะถามเข้ามาในแฟนเพจ ผมสูงเท่านี้จะขี่ตัวนี้ได้ไหม จะคร่อมตัวนั้นแล้วขาถึงหรือไม่ บอกเลยครับว่าถ้าเพื่อนๆไม่ใช่คนแคระ หรือว่าผิดปกติทางร่างกาย ยังไงมอเตอร์ไซค์ทุกคนเราสามารถคร่อมได้หมด โดยที่มันมีหลักการง่ายอยู่ไม่กี่ข้อครับ ยกตัวอย่างเช่น ชายสูง 160 เซนติเมตร ต้องการคร่อม Ducati Multistrada 1200 Enduro (โมเดลนี้ขึ้นชื่อเรื่องความสูงเบาะนั่งเป็นอย่างมาก) ซึ่งแน่นอนว่าเวลาจอดรถนั้น ขาของชายที่สูง 160 เซนติเมตร ไม่มีทางที่จะเอาเท้าแตะพื้นแบบเต็มฝ่าเท้าทั้งสองข้างได้อย่างแน่นอน แต่สิ่งที่เราหลายๆ คนมักจะเห็นก็คือ เมื่อเท้าสองข้างแตะพื้นไม่ได้ขอแค่ปลายเท้าก็ยังดี เขย่งสองข้างไปเลย ซึ่งภาพที่คนอื่นมองมามันคงดูไม่งามเป็นอย่างมาก เรามีวิธีแก้ไขตรงนี้ให้ครับ หากเพื่อนๆ ต้องการจอดรถ ให้เพื่อนเลือกเท้าข้างซ้ายออกจากพักเท้า เท้าขวาแตะเบรกหลังไว้ สไลด์สะโพกไปยังฝั่งซ้าย โดยที่เท้าขวา ไม่หลุดออกจากแป้นเบรกหรือพักเท้า เพียงเท่านี้ เท้าของเพื่อนๆ ก็จะสามารถลงสู่พื้นได้อย่างเต็มที่มากขึ้น ไม่ต้องเขย่งปลายเท้าอีกต่อไป เช่นเดียวกันกับการที่จะเปลี่ยนเกียร์ เราก็ใช้เท้าซ้ายที่แตะพื้นอยู่นั้น ดันตัวรถให้ตรง สไลด์สะโพกไปทางขวาตามแรงถีบจากเท้าซ้าย เตะเท้าขวาออกจากพักเท้า แตะพื้น ซึ่งในจังหวะเดียวกันนั้น เท้าซ้ายหลังจากที่ดันพื้นขึ้นมาแล้วก็ให้เก็บไว้ที่พักเท้าซ้ายอย่างรวดเร็ว เพียงเท่านี้เราก็ได้ท่าทางที่สง่างาม และก็ไม่ต้องกลัวว่าเท้าเราจะไม่ถึงพื้นอีกด้วย 
กลัวการคร่อมรถที่สูงกว่า
ปัญหานี้จะเป็นปัญหาเริ่มต้นของคนตัวเล็กที่ต้องการขับขี่รถที่มีขนาดความสูงเบาะนั่งที่สูงกว่าขาของเรา ซึ่งหลายๆ มักจะใช้วิธีด้วยการ เตะวาดขาให้สูงที่สุดเพื่อให้พ้นเบาะนั่ง และคร่อมตัวเบาะนั่งไปเลย ซึ่งจะบอกว่าวิธีนี้ผิดหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าไม่ผิดครับ แต่ร่างกายของเพื่อนๆ ต้องแข็งแรงและมีความยึดหยุ่นที่สูงมาก เพราะมันเสี่ยงต่อการเป็นตะคริวที่สูงมาก แต่เรามีวิธีที่ง่ายกว่าและเซฟร่างกายของเราได้มากกว่า โดยวิธีแรกคือการตั้งขาตั้งรถไว้ในที่ที่มั่นคง จากนั้นใช้เท้าซ้ายเหยียบที่พักเท้าหน้าซ้าย มือสองข้างจับแฮนด์รถแล้วหันซ้ายหมดและมือขวากำเบรกหน้าให้พอดีๆ ไม่แน่นไม่หลวมจนเกินไป จากนั้นก็วาดขาขวาขึ้นตาม โดยเทน้ำหนักไปที่ฝั่งซ้ายของตัวรถ พอคร่อมรถได้ก็ให้เอาเท้าขวาวางบนพักเท้าขวาก่อน จากนั้นก็ให้ถ่ายน้ำหนักของตัวเองลงมาฝั่งขวา เพื่อให้ตัวรถเอียง จากนั้นให้ใช้เท้าขวาออกจากพักเท้าและแตะพื้น โดยที่สไลด์สะโพกไปยังฝั่งขวาของเบาะนั่งเพื่อช่วยยึดระยะของขาให้ยาวขึ้น พอเท้าขวาแตะพื้นได้ ก็ใช้ขาซ้ายในการเก็บขาตั้ง ท่าทางนี้จะช่วยลดการใช้กล้ามเนื้อจากการเตะขาสูงได้ และมีอีกหนึ่งท่าทางที่แอดวานซ์มากขึ้น โดยขั้นตอนแรก ให้ทำการเก็บขาตั้งให้เรียบร้อย เอียงรถเข้าหาตัวผู้ที่จะขึ้น แฮนด์หักเข้าหาตัวให้สุดจากนั้นเมื่อรถจะมีความสูงของเบาะนั่งที่เตี้ยลงทำให้เราสามารถวาดขาไม่ต้องสูงมากจนเกินไป พอเท้าเลยเบาะนั่งไปได้ก็ให้วางบนพักเท้าจากนั้นก็ให้ใช้หลักการจากข้อที่แล้ว ในการสลับเท้าเพื่อเข้าเกียร์ และเดินหน้าต่อไปครับ
กลัวหน้าหงาย
เชื่อได้ว่าเพื่อนๆ มือใหม่ๆ หลายๆ คนต้องเคยเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ ซึ่งมันเกิดจากการที่เราเปิดคันเร่งผิดจังหวัง โดยเฉพาะเวลาที่เราออกตัว เมื่อเราบิดคันเร่งมากไป ร่างกายจะออกคำสั่งโดยอัตโนมัติให้เราเกร็งตัวต้านต่อแรงดึงที่เกิดจากการบิดคันเร่ง ซึ่งมันอาจจะไม่ส่งผลอะไรมากมายต่อการขับขี่ แต่มันทำให้ภาพลักษณ์ความเป็นไบค์เกอร์ของเราเสียหายได้ ดังนั้นวิธีแก้ไขก็คือ เมื่อเราจะบิดคันเร่ง ไม่ว่าจะเมื่อไหร่ก็ตาม ให้เราโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อยงอแขนและกางซอกออกด้านข้างเล็กน้อย เพียงเท่านั้น เราก็จะไม่เกิดอาการหน้าหงายอีกต่อไป อีกทั้งยังเป็นหลักการที่ถูกต้องในการขับขี่มอเตอร์ไซค์อีกด้วย
กลัวยูเทิร์น
โดยมีองค์ประกอบสำคัญๆ ด้วยกัน 4 ส่วน 1.ท่าทางในการขับขี่ 2.การใช้เบรก 3.การใช้คันเร่ง 4.สายตา เพื่อนๆ บางคนอาจจะใช้หลักการในการตีวงให้กว้างเพื่อจะเข้าที่แคบ ซึ่งก็ไม่ผิดแต่อย่างใด แต่ก็อยากให้ระวังรถที่อยู่ด้านหลังกันด้วย ซึ่งวิธีที่เราจะบอกนั้น คือการให้เราเอียงรถเข้าไปในโค้ง ขยับสะโพกเล็กน้อยตามไป ส่วนลำตัวให้ตั้งตรงขนาดกับพื้นไม่เอียงไปข้างใดข้างหน้า ห้ามใช้เบรกหน้าโดยเด็ดขาด แต่ให้แตะเบรกหลังเพื่อทรงตัว แต่ขอย้ำกันอีกครั้งนะครับว่าท่าทางนี้สามารถใช้ได้กับความเร็วต่ำเท่านั้น หากเพื่อนๆ ที่โปรแล้วจะใช้ความเร็วสูงขึ้นก็ได้ แต่ก็ระวังรถดีดกันด้วยนะครับ
กลัวการขับขี่ในขณะที่ฝนตก
สภาพอากาศในประเทศไทยนั้นเป็นเขตป่าร้อนชื้นที่มีฝนตก ขับขี่ในขณะที่ฝนตกนั้น ไม่ยากเลยครับ แค่ขับให้ช้าลงเท่านั้นเอง เมื่อเราขับช้าลงเวลาในการตัดสินใจของเราก็จะมีมากขึ้น อีกทั้งร่างกายที่เหนื่อยล้าจากกิจกรรมต่างๆ ก่อนการขับขี่ หรือหลังจากการขับขี่เป็นระยะทางไกลๆ มาแล้ว ก็จะถูกใช้งานน้อยลง สมองก็จะสามารถสั่งการร่างกายได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การขี่มอไซค์หน้าฝน

วิเคราะห์การพัฒนา 2020 Honda CBR1000RR ตัวใหม่